วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553




ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์
จาก Knowledge Center


ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์
เกิด 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443
ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ถึงแก่อสัญกรรม 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (82 ปี)
ชานกรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส
สังกัดพรรค
พรรคสหชีพ
สมรสกับ
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์



ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) หรือ หลวงประดิษฐมนูธรรม ผู้นำสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้อภิวัฒน์การปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น มีชื่อรหัสว่า "รู้ธ" เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยฯ นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสด้วย
ในปี พ.ศ. 2543 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศชื่อศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ไว้ใน ปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ปี ค.ศ. 2000-2001




ประวัติ
ปรีดี พนมยงค์เกิดในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายเสียง มารดาชื่อนางลูกจันทน์ สืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ "ประยงค์" ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดห่างจากกำแพงพระราชวังด้านตะวันตกชื่อ วัดพระนมยงค์ หรือ "พนมยงค์" เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ครอบครัวนี้จึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์"
สมรสกับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์ เมื่อปี พ.ศ. 2472 มีบุตร-ธิดาทั้งหมด 6 คน คือ นางสาวลลิตา พนมยงค์, นายปาล พนมยงค์, นางสาวสุดา พนมยงค์, นายศุขปรีดา พนมยงค์, นางดุษฎี บุญทัศนกุล และนางวาณี สายประดิษฐ์
การศึกษา
สำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่ โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมต้น ณโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และมัธยมปลาย ณ โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า หรือปัจจุบันคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้นออกมาช่วยบิดาทำนาหนึ่งปี และจึงได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2460
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2462 สอบไล่วิชากฎหมาย ชั้นเนติบัณฑิตได้ เมื่ออายุ 19 ปี และเมื่ออายุ 20 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมพอใจในผลสอบ จึงให้ทุนไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยก็อง (Univesite de Caen) และศึกษาพิเศษจากศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) จนสำเร็จการศึกษาได้ปริญญารัฐเป็น "บาเชอลิเย" กฎหมาย (Bachelier en Droit) และได้เป็น "ลิซองซิเย" กฎหมาย (Licencie en Droit)
เมื่อ พ.ศ. 2469 สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) ระดับปริญญาเอก และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplome d’Etudes Superieures d’Economic Politique) จากมหาวิทยาลัยปารีส ได้ปริญญารัฐเป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย"(Docteur en Droit) ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยเสนอวิทยานิพนธ์ เรื่อง "Du Sort des Societes de Personnes en cas de Deces d’un Associe" (ศึกษากฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายเปรียบเทียบ) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ศึกษาต่อจนจบดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส



ผลงาน

นิติบัญญัติและการวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครอง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ปรีดีเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พร้อมกันนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบใหม่
ในขณะเดียวกัน ปรีดีก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสภาผู้แทนราษฎรสยาม ด้วยตำแหน่งดังกล่าวทำให้ท่านมีบทบาทด้านนิติบัญญัติในการวางหลักสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคให้แก่ราษฎร โดยเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก และเป็นผู้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือก ตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับเพศชาย (Universal Suffrage) นับว่าก้าวหน้ากว่าประเทศฝรั่งเศสซึ่งเพิ่งเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิ์เช่นนี้ได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
จากการที่ได้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ปรีดีสนับสนุนแนวคิดเรื่องศาลปกครอง และก็เป็นผู้นำเอาวิชา "กฎหมายปกครอง" (Droit Administratif) มาสอนเป็นคนแรก ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครอง ได้ และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วท่านจึงผลักดันให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมายและสถาปนาขึ้นเป็น "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน ทั้งยังพยายามผลักดันให้ "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ทำหน้าที่ "ศาลปกครอง" อีกด้วย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากวัฒนธรรมในทางอำนาจนิยมของรัฐไทยยังมีอยู่หนาแน่น ความพยายามในการตั้งศาลปกครองของปรีดีจึงประสบอุปสรรคมาโดยตลอด
ในปี พ.ศ. 2476 ได้เสนอ "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์หลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งท่านได้ชี้แจงไว้ว่า
"การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใด ๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ"
ปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้เจ็บป่วย พิการ หรือชรา ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง พ.ร.บ."ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" แต่น่าเสียดายที่ความคิดดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กว่าประเทศไทยจะยอมรับให้มีนโยบายประกันสังคม ก็เป็นเวลาอีก 60 ปีต่อมา
เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากพลังเก่าของสังคมสยามในยุคนั้น เพราะไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเจ้าขุนมูลนาย ยังเป็นผู้คุมอำนาจอยู่




การกระจายอำนาจการปกครอง
ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เพื่อให้รูปแบบและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น
เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นแห่งแรก (พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2478) ก็ได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้ง "เทศบาล" ทั่วราชอาณาจักรสยาม ตาม พ.ร.บ.เทศบาล ซึ่งท่านเป็นผู้ร่างให้รัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมุ่งหวังให้การปกครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและได้ กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ปรีดีได้แสดงความมุ่งมั่นในการขยายเทศบาลนี้ว่า
"เราต้องการขยายเทศบาลนั้นไปทั่วพระราชอาณาจักร ไม่ใช่จะหยิบยกแต่จังหวัดสำคัญ ๆ เหมือนดังพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลหัวเมืองแต่ก่อนไม่ ทั้งนี้โดยดำเนินคล้าย ๆ กับในหลายประเทศที่เขาปฏิบัติเช่นนี้เช่น ฝรั่งเศสก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ก็ได้ยกสภาพของตำบลนั้นให้เป็นเทศบาล"
การปกครองแบบเทศบาลตาม พ.ร.บ.เทศบาลที่ปรีดีร่างขึ้นนั้น ได้ยกเทศบาลตำบลให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคล เทศบาลตำบลจัดระเบียบการปกครองเป็น 2 ส่วนคือ
1. สภาเทศบาลตำบลเป็นองค์การนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ตราเทศบัญญัติ
2. คณะมนตรีตำบลเป็นองค์การบริหาร มีอำนาจหน้าที่บริหารการให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งสภาตำบลรับรองแล้ว




ด้านการศึกษา
ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปรีดีได้สถาปนา "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) ขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 และได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ประศาสน์การ (พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2490) คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย เพื่อสนองเจตนารมณ์ข้อสุดท้ายของหลัก 6 ประการที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" ด้วยเห็นว่าในขณะนั้น สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่มิได้เปิดกว้างเพื่อชนส่วนใหญ่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยใหม่ตามแนวความคิดของท่าน จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเพื่อราษฎร เป็นตลาดวิชา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกัน ปรีดีกล่าวไว้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยว่า
"มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น"
มหาวิทยาลัยแห่งนี้มิได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด หากอาศัยเงินที่มาจากค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาทั่วราชอาณาจักรและดอกผล ที่ได้มาจากธนาคารแห่งเอเซียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม (Bank of Asia) ซึ่งปรีดีเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้นถึง 80% นอกจากนี้ปรีดียังได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นของท่านให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อพิมพ์เอกสารตำราคำสอนแก่นักศึกษา นับว่าเป็นสถาบันที่มีเสรีภาพทางวิชาการและเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ อย่างแท้จริง
ผลิตผลของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ขององค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่าขบวนการเสรีไทย
ภายหลังจากที่ปรีดีถูกขับให้พ้นจากวงการเมืองไทยแล้ว รัฐบาลอำนาจนิยมเข้าครอบครองและได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยตัดคำว่า "วิชา" และ "การเมือง" ออก เหลือเพียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งยังทำการขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล




ด้านการต่างประเทศ
ในเวลานั้นสยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ ถึง 13 ประเทศ ในนามของสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือ
เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ปรีดีได้ก้าวเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (พ.ศ. 2478 - พ.ศ. 2481) เป็นผู้นำในการทวงอำนาจอธิปไตยของประเทศกลับคืนมา โดยยึดหลักเอกราชทั้งในทางการเมือง การศาล และเศรษฐกิจ ในระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ท่านได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามได้ทำ ไว้กับประเทศมหาอำนาจ 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยียม และนอร์เวย์ ตามลำดับ ซึ่งประเด็นหลักในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมีอยู่ 2 ประเด็น คือ
1. สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritorialiry) คือคนในบังคับของต่างประเทศไม่ต้องขึ้นต่อศาลสยาม ทำให้สยามสูญเสียเอกราชในทางศาล
2. ภาษีร้อยชักสาม คือรัฐบาลสยามสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น ทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศเท่าที่ควรจะได้ นับเป็นการสูญเสียเอกราชในทางเศรษฐกิจ
ปรีดีได้ใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาเหล่านั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่โดยอาศัยหลัก "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" จนสามารถยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวได้สำเร็จ ทำให้สยามได้เอกราชทางศาลและเอกราชทางเศรษฐกิจกลับคืนมา และมีสิทธิเสมอภาคกับนานาประเทศทุกประการ
หนังสือพิมพ์ สเตรตไทม์ ของสิงคโปร์กล่าวยกย่อง ปรีดีไว้ในบทบรรณาธิการว่า "ดร. ปรีดี พนมยงค์ เสมือนหนึ่งเป็น แอนโทนี อีเดน" (รัฐมนตรีต่างประเทศคนสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ)


ด้านการคลัง
เมื่อปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2484) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร โดยแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม และได้บรรลุภารกิจในด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญ ดังนี้
1. ช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา (เงินส่วย) ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา เป็นต้น
2. จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยโดนสถาปนา "ประมวลรัษฎากร" (Revenue Code) เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง
3. ออก พรบ.ภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า กล่าวคือผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมากหากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากร มากตามลำดับ
ในด้านการสร้างเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ปรีดีคาดการณ์ว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในไม่ช้า เงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งสยามประเทศใช้เป็นทุนสำรองเงินตราอาจจะลดค่าลงได้ ท่านพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีความไม่แน่นอน นั้น การเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่งน่า จะเป็นนโยบายที่เหมาะสม และเห็นว่าอังกฤษซึ่งอยู่ในสถานะสงครามกับเยอรมันนีในยุโรปแล้วตั้งแต่ปี 2482 มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในเอเชียแปซิฟิกด้วยในอนาคตอันใกล้ อันจะมีผลกระทบต่อสถานภาพของเงินปอนด์สเตอร์ลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่งซื้อทองคำ แท่งหนัก 273,815 ออนซ์ ในราคาออนซ์ละ 35 เหรียญสหรัฐฯ นำมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังได้โอนเงินปอนด์เพื่อแลกซื้อเงินดอลลาร์และทองคำแท่งเก็บไว้ที่ สหรัฐอเมริกาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทในเวลานั้นมั่นคงที่สุดแม้ว่าเป็นระยะใกล้จะ เกิดสงครามเต็มทีแล้ว ทองคำแท่งจำนวนดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุก วันนี้
เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับ หนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตราอันประกอบ ด้วยทองคำและเงินตราต่างประเทศในสกุลที่ทั่วโลกยอมรับ ปรีดีในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ก็ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งได้เคยปรารภไว้แล้วใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” มาพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน และเร่งฝึกพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารธนาคารชาติ ต่อมาจึงได้จัดตั้ง "ธนาคารชาติไทย" ขึ้น ในปี พ.ศ. 2483 หรือต่อมารู้จักกันในนาม "ธนาคารแห่งประเทศไทย" เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์
ในพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลตรีเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ กล่าวในพิธีว่า
"การตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทย เป็นความดำริที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้มีมาแล้วแต่ช้านาน เมื่อ พ.ศ. 2483 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้วางรากฐานลงไว้ โดยจัดตั้งสำนักธนาคารชาติไทยเป็นทบวงการเมือง สังกัดขึ้นอยู่ในกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบธุรกิจอันอยู่ในหน้าที่ของธนาคารกลางไปก่อนบางประเภท และเตรียมการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นต่อไป การงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยได้เจริญมาเป็นลำดับ ด้วยอาศัยปรีชาสามารถของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นั้นเป็นสำคัญ"



บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น นายปรีดี พนมยงค์ เล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" (The King of The White Elephant) เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพและคัดค้านการทำสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ที่ว่า "นตถิ สนติ ปรสุข" ไม่มีความสุขใดจะยิ่งกว่าสันติภาพ ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อด้าน สงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี
ปลายปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นเปิดแนวรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาเพื่อครองความเป็นมหาอำนาจในเอเชีย หลังจากที่บุกจู่โจมฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของ สหรัฐฯและดินแดนในครอบครองของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม ญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าประเทศไทยทางกัมพูชา รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่น ดินไทย และในที่สุดก็ร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลาง พ.ศ. 2482
ฝ่ายอังกฤษจึงประกาศสงครามกับไทยเพื่อเป็นการตอบโต้ อย่างไรก็ตามปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน รัชการที่ 8 ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยและแสดงจุดยืนให้ปรากฏโดยเป็นผู้ นำในการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า "ขบวนการเสรีไทย" ประกอบด้วยคนไทยทุกชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ท่านไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ประเทศสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวน การเสรีไทย
กระแสความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ชนทุกเหล่า แต่รัฐบาลถือว่าตนเองมีความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยมีบทลงโทษตั้งแต่การจำคุกไปจนถึงการประหารชีวิต อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศ ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่าดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพ ญี่ปุ่น ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกราน จึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ
ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ และหัวหน้าเสรีไทยในรหัสนามว่า "รูธ" (Ruth) ต้องทำงานเสี่ยงตายในสองบทบาทตลอดเวลา 3 ปีกว่าของสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยถือความลับสุดยอดเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน แม้กระทั่งพลพรรคเสรีไทยเองต่างก็ไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่เป็นพวกเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภารกิจของเสรีไทยบรรลุเป้าหมายให้ได้ คือ
1. ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
2. ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย
3. ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ซึ่งเป็นเสรีไทยสายอังกฤษเคยกล่าวว่า " ข้าพเจ้ารู้สึกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ (นายปรีดีฯ) ทำงานในการต่อต้านครั้งนี้ด้วยความพยายามเต็มสติกำลังความสามารถ อดทน มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มิได้เห็นแก่ตัวและภยันตรายที่จะมาถึงตน จนพวกเราทั้งหลายที่เข้ามาจากต่างประเทศต้องพากันขอร้องหลายครั้งหลายคราว ให้เตรียมตัวที่จะคิดป้องกันตนเองเสียบ้าง มิฉะนั้นการงานของประเทศจะเสียหมด ถ้าหลวงประดิษฐ์เป็นอะไรไป..."
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 ปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่าง เปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขอร้องให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทางแผนยุทธศาสตร์ของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนา งาซากิ
เมื่อญี่ปุ่นได้ยอมจำนน ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้แจ้งให้ผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และขอให้ท่านรีบออกแถลงการณ์ ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายทั้งปวงที่รัฐบาลไทยในสมัยหนึ่งได้ทำไว้กับ ญี่ปุ่น
ดังนั้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงได้ทำการ "ประกาศสันติภาพ" ดังความบางตอนว่า
"ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่าง เคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว เมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง ทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก"
"เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง"
"จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็น "โมฆะ" ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดี อันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลก นี้"
เมื่อสิ้นสุดภารกิจลงแล้ว ท่านได้ประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 โดยได้กล่าวว่า “สิ่งที่เหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกัน” และ “ผู้ ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวงซึ่งแม้ผู้ไม่ได้เข้าร่วมในองค์การ นี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำ ได้”
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2489) ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติอย่างเต็มภาคภูมิ
ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันสันติภาพไทย"



รัฐบุรุษอาวุโส
ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขันนี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุด ดังที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาว่า
"โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์และปรากฏว่าตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นเอนกประการ
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ รัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
นายกรัฐมนตรี"


ลี้ภัยและถึงแก่อสัญกรรม
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต รัฐบาลนายปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งหลังการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ได้ขอความเห็นชอบต่อสภาฯ ว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนการสวรรคต 1 วัน ด้วยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีได้สวรรคตเสียแล้ว แต่หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้ปรีดี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่ 3
กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ถูกศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งเชื่อกันว่าประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก กลายเป็นกระแสข่าวลือ และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปรีดีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหาร ซึ่งใกล้ชิด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารพยายามจะจับกุมตัวปรีดีกับครอบครัว แต่ปรีดีทราบข่าวก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงหนีทัน และได้ลี้ภัยการเมือง ไปยังประเทศสิงคโปร์ สองปีถัดมา ก็ลี้ภัยต่อไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างนั้นรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่ได้รับแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ก็ถูกรัฐประหารซ้ำโดยคณะรัฐประหารกลุ่มเดิม และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งโดยต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปีเศษ
ปี พ.ศ. 2492 ปรีดีเคยกลับมาประเทศไทยเพื่อรัฐประหารรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" หรือที่เรียกกันว่า "กบฎวังหลวง" (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492) แต่กระทำการไม่สำเร็จ จึงต้องลี้ภัยอีกครั้ง และอีก 11 ปีต่อมาได้ลี้ภัยต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส จนถึงแก่อสัญกรรมในอีก 13 ปีต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ขณะที่ปรีดีเสียชีวิตเป็นช่วงของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์




การเชิดชูเกียรติ
ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ตั้งชื่อตามราชทินนามของศ.ปรีดี พนมยงค์ "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"
ถนนปรีดี พนมยงค์ ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ศ.ปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ 3 สาย ที่ถนนสุขุมวิท 71, ถนนโรจนะ ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
วันปรีดี พนมยงค์ ทุกวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของ ศ.ปรีดี พนมยงค์
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ วิทยาลัยนานาชาติในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ปรีดี พนมยงค์



เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นสูงสุด ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๑
เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
สายสะพายอาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 1 รับพระราชทานจากสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต เมื่อ พ.ศ. 2478 [1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เยอรมันอีเกิ้ล Grand Cross of the Order of the German Eagle (Grosskreuz des Deutschen Adlerordens)
เครื่องรัฐอิสริยาภรณ์ เลชียงดอนเนอร์ ชั้นสูงสุด Grand-Croix de Légion d'honneur จากรัฐบาลมหาชนรัฐฝรั่งเศส
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เลโอปอลด์ ชั้นที่ 1 Le Grand Cordon de l'odre de Leopold จากสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งเบลเยี่ยม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซันตีโมริซิโอ เอ ลัซซาโร ชั้นที่ 1 Gran Croce del Suo Ordine Dei SS. Maurizio e Lazzaro จากสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งอิตาลี จักรพรรดิแห่งเอธิโอเปีย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนท์ไมเกิล และเซนท์ยอร์ช ชั้นที่ 1 The Insignia of an Honorary Grand Cross of The Most Distinguished Order of St.Michael and St.George จากสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษ
เหรียญแห่งเสรีภาพ ชั้นสูงสุด Medal of Freedom (Gold Palm) รับพิธีประดับเหรียญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงกลาโหม กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2489
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ วาซา ชั้นสูงสุดแห่งสวีเดน Order of Vasa (Commander Grand Cross)



งานเขียน
ภาษาไทย
ปรัชญาคืออะไร?. กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์นีติเวช, 2513.
บันทึกข้อความสำคัญประกอบด้วยอุทาหรณ์ และคำแนะนำแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. พระนคร, โรงพิมพ์นิติสาส์น, 2471.
จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุ ของเสรีไทยเกี่ยวกับการในแคนดี. กรุงเทพฯ, อมรินทร์การพิมพ์, 2522.
ความเป็นมาของศัพท์ไทย "ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์". กรุงเทพฯ, สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519.
แถลงการณ์ของนายปรีดี พนมยงค์และคำเตือนสติผู้รักชาติ. กรุงเทพฯ, ประจักษ์การพิมพ์, 2516.
ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (Ma vie mouvementee' et mes 21 ans d'ex.) กรุงเทพฯ, เทียนวรรณ, 2529.
ความเป็นอนิจจังของสังคม. พระนคร, โรงพิมพ์นิติเวช, 2513.
ระบบสังคมนิยม และระบบคอมมิวนิสต์ จะเหมาะสมแก่เมืองไทยหรือไม่. กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2518-
เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ หลวงประดิษฐมนูธรรม. พระนคร, โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2491.
คำอธิบายกฎหมายปกครอง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2475.
ปรีดี พนมยงค์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2517. กรุงเทพฯ, จงเจริญการพิมพ์, 2517.
คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย หุ้นส่วนบริษัทและสมาคม โดย หลวงประดิษฐมนูธรรม. พระนคร, โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2479.
ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์นิติเวชช์, 2517.
ภาษาอังกฤษ
Political and military tasks of the Free-Thai movement to regain national sovereignty and independence. Bangkok Amarin Press, 1979.
The king of the white elephant. Bangkok, Thammasat University, 2484 (1941)
ภาษาฝรั่งเศส
Du sort des societes de personnes en cas de deces d'un associe (etude de droit francais et de droit compare). Paris, Librairie de Jurisprudence Ancienne et Monderne, 1927.
Ma vie mouvementee et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire. Paris, Varap, 1972.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น